ในการแข่งขันยกน้ำหนักแต่ละครั้ง
การเข้าแข่งขัน
1.1 ในการแข่งขันยกน้ำหนักแต่ละครั้ง ต้องมีการประชุมเกี่ยวกับเทคนิคก่อนที่จะมีการแข่งขันครั้งแรก 1 วัน ในการแข่งขันครั้งสำคัญ ต้องมีการประชุมด้านเทคนิคให้ทันเวลาก่อนการแข่งขัน และต้องระบุวันที่และเวลาไว้ในหนังสือเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน
1.2 จำนวนนักกีฬาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันได้ระบุไว้ในกติกาข้อ 3
1.3 การกำหนดรายชื่ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขัน จะกระทำเป็นขั้นสุดท้ายในการประชุมเทคนิค โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ น้ำหนักตัว รุ่นที่เข้าแข่งขัน วันเกิด และสถิติรวมที่ทำได้ดีที่สุดของนักยกน้ำหนักแต่ละคน หลังจากการเสนอชื่อนักกีฬาแล้ว การแก้ไขชื่อของนักกีฬาจะกระทำมิได้ และการกำหนดรุ่นตามน้ำหนักตัวจะกระทำได้โดยเลื่อนเข้าแข่งขันในรุ่นที่สูงขึ้นถัดไป 1 รุ่นได้ เมื่อดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับของสหพันธ์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว นักกีฬาจะเปลี่ยนไปลงแข่งขันในรุ่นที่ต่ำกว่ารุ่นซึ่งสมัครไว้แล้วไม่ได้
1.4 ในการแข่งขันแต่ละรุ่น เลขานุการจัดการแข่งขันจะแบ่งนักกีฬาออกเป็นสองกลุ่ม หรือมากกว่าก็ได้ การแบ่งกลุ่มขึ้นอยู่กับสถิติเดิมที่นักกีฬาได้ทำไว้ก่อนหน้านี้
1.5 ในการประชุมทางเทคนิคต้องกำหนดบุคคลให้ทำหน้าที่คณะกรรมการควบคุมการแข่งขัน ผู้ตัดสิน ผู้ควบคุมด้านเทคนิค และแพทย์สนาม สำหรับการแข่งขันในแต่ละรุ่น แต่ละกลุ่ม
1.6 รายละเอียดข้อมูล จะต้องลงไว้ในสูจิบัตรการแข่งขันด้วย
2. การจับสลากหมายเลขประจำตัว
2.1 ในการประชุมด้านเทคนิค จะต้องจับสลากหมายเลขประจำตัว สำหรับผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้หมายเลขประจำตัวนี้ตลอดการแข่งขันถึงแม้ว่าจะเลื่อนขึ้นไปแข่งขันในรุ่นที่สูงขึ้นก็ตาม
2.2 หมายเลขประจำตัวจะใช้เป็นหมายเลขเรียงลำดับในการชั่งน้ำหนัก และลำดับในการยกตลอดการแข่งขัน
3. การชั่งน้ำหนักก่อนการแข่งขัน
3.1 การชั่งน้ำหนักแต่ละรุ่น ต้องชั่งก่อนลงมือแข่งขัน 2 ชั่วโมง และเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง
3.2 การชั่งน้ำหนักต้องกระทำในห้อง ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกดังต่อไปนี้
- เครื่องชั่งมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเป็นทางการ เพื่อใช้ในการแข่งขัน
- โต๊ะและเก้าอี้สำหรับเลขานุการจัดการแข่งขัน
- แบบพิมพ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการแข่งขัน ปากกา และเครื่องเขียน ฯลฯ
3.3 ผู้ตัดสินกลาง เป็นผู้ควบคุมและใช้เครื่องชั่งน้ำหนัก และผู้ตัดสินด้านข้างเป็นผู้ลงนามรับรองผลการชั่งน้ำหนักตัวตามที่เลขานุการบันทึก
3.4 ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนในแต่ละรุ่น จะต้องชั่วน้ำหนักตัวต่อหน้าผู้ตัดสิน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ 3 คน และต่อหน้าเลขานุการจัดการแข่งขัน และอนุญาตให้ผู้แทนของแต่ละทีมเข้าเป็นสังเกตการณ์ได้หนึ่งคน ระหว่างการชั่งน้ำหนักก่อนการแข่งขัน บุคคลที่มีสิทธิ์เข้าไปสังเกตการณ์ชั่งน้ำหนักตัว ได้แก่ ประธานเลขาธิการของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ประธานฝ่ายแพทย์ รวมทั้งกรรมการฝ่ายเทคนิค
3.5 ผลการชั่งน้ำหนักก่อนการแข่งขัน จะเปิดเผยได้ต่อเมื่อผู้เข้าแข่งขันได้ชั่งน้ำหนักตัวครบถ้วนทุกคนแล้วเท่านั้น
3.6 ผู้เข้าแข่งขันจะถูกเรียกชื่อให้เข้าไปในห้องชั่งน้ำหนักครั้งละหนึ่งคน โดยเรียกตามลำดับหมายเลขประจำตัว ในกรณีที่ผู้เข้าแข่งขันถูกเรียกชื่อแล้ว แต่ไม่ปรากฎตัวอยู่ในที่นั้น ผู้เข้าแข่งขันคนนั้น ๆ จะได้รับการเรียกชื่อเป็นคนถัดไปเมื่อกลับมาถึงห้องชั่งน้ำหนักแล้ว
3.7 ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนจะต้องแสดงตน โดยแสดงหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวต่อเลขานุการจัดการแข่งขัน
3.8 ผู้เข้าแข่งขันจะต้องชั่งน้ำหนักโดยการถอดเสื้อผ้าหรือสวมชุดชั้นใน นักยกน้ำหนักหญิงจะต้องชั่งต่อหน้ากรรมการผู้ตัดสินที่เป็นสุภาพสตรีเท่านั้นและผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เลขานุการในการชั่งน้ำหนักก่อนการแข่งขันต้องเป็นสุภาพสตรี
3.9 เมื่อผู้เข้าแข่งขันมีน้ำหนักอยู่ในพิกัดที่กำหนดไว้ในรุ่นนั้น ๆ แล้ว การชั่งน้ำหนักก็จะกระทำได้ครั้งนั้นเพียงครั้งเดียว ภายในเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการชั่งน้ำหนักก่อนการแข่งขัน ผู้แข่งขันที่มีน้ำหนักที่ต่ำหรือสูงเกินกว่าเกณฑ์กำหนด จะขอชั่งน้ำหนักเพื่อทำให้น้ำหนักถูกต้องตามพิกัดกี่ครั้งก็ได้ เมื่อหมดเวลาการชั่งน้ำหนักก่อนการแข่งขันแล้ว ผู้เข้าแข่งขันที่มีน้ำหนักน้อยเกินไปจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันที่มีน้ำหนักเกินอาจได้รับอนุญาตให้เข้าแข่งขันในรุ่นที่สูงขึ้นถัดไปแต่ในรุ่นที่จะเลื่อนขึ้นไปนั้น ต้องมีนักกีฬาจากประเทศเดียวกันเข้าแข่งขันไม่เกินสองคน การเปลี่ยนในกรณีนี้จะต้องแจ้งให้เลขานุการจัดการแข่งขัน และกรรมการควบคุมทางเทคนิค ซึ่งเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการชั่งน้ำหนักครั้งนั้นทราบ และนักกีฬาผู้นั้นจะต้องมีน้ำหนักตัวถึงเกณฑ์ต่ำสุดของรุ่นถัดไป
3.10 นักกีฬาที่ได้แจ้งไว้ว่าจะเข้าแข่งขันในรุ่นใดรุ่นหนึ่งแล้ว จะเลื่อนรุ่นเข้าแข่งขันในรุ่นที่หนักกว่ารุ่นที่แจ้งไว้ก็ได้ ถ้านักกีฬาคนนั้นหรือผู้แทนแจ้งความต้องการดังกล่าวภายหลังหรือเริ่มการชั่งน้ำหนักตัวในรุ่นที่ได้แจ้งไว้แล้วแต่เดิมโดยที่นักกีฬาคนนั้นมีคุณสมบัติถูกต้องตามกติกาว่าด้วยการชั่งน้ำหนักก่อนการแข่งขัน
3.11 ระหว่างการชั่งน้ำหนักก่อนการแข่งขัน ผู้ฝึกสอนของนักกีฬายกน้ำหนักแต่ละคนจะต้องเซ็นชื่อ และเขียนน้ำหนักที่จะยกเป็นครั้งแรก (สแนทช์และคลีนแอนด์เจอร์ค) ลงในใบส่งน้ำหนักเหล็กด้วย
3.12 ก่อนการชั่งน้ำหนัก เจ้าหน้าที่ของสหพันธ์ยกน้ำหนัก หรือทีมยกน้ำหนักของแต่ละประเทศ จะต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเป็นผู้ติดตามนักกีฬาระหว่างการแข่งขันต่อเลขานุการจัดการแข่งขัน นักกีฬาแต่ละคนจะมีผู้ติดตามเกินสามคนไม่ได้ สำหรับนักกีฬาสองคนจะมีผู้ติดตามเกินสี่คนไม่ได้ เลขานุการจัดการแข่งขันจะเป็นผู้ออกบัตรอนุญาตให้แก่บุคคลที่ระบุชื่อดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่จะเช้าไปในบริเวณที่สำหรับอบอุ่นร่างกายได้ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับบัตรอนุญาตจากเลขานุการจัดการแข่งขันแล้วเท่านั้น บัตรอนุญาตนี้จะออกให้สำหรับแต่ละรุ่นโดยเฉพาะ
4. การแสดงตัวบนเวที
4.1 สิบห้านาทีก่อนเริ่มการแข่งขันในแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม ต้องมีการแสดงตัวดังต่อไปนี้
ก. ผู้เข้าแข่งขันในรุ่นหรือกลุ่มน้ำหนักนั้น ๆ ต้องแสดงตัวตามลำดับหมายเลขประจำตัวหลังจากการแสดงตัวแล้ว นักกีฬาจะลงหรือออกจากเวทีการแข่งขันพร้อมกัน
ข. ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันจะแสดงตัวซึ่งประกอบด้วย
- ผู้ตัดสิน
- กรรมการควบคุมด้านเทคนิค
- แพทย์สนาม
- คณะกรรมการควบคุมการแข่งขัน
- เลขานุการจัดการแข่งขัน
หมายเหตุ บุคคลตามตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น จะแสดงตัวพร้อมกันและลงจากเวทีพร้อมกัน ดนตรีบรรเลง
เพลงมาร์ชที่เหมาะสม กรรมการควบคุมการแข่งขันและเลขานุการจัดการแข่งขันจะแสดงตัว ณ ที่ทำ
งานของตนซึ่งจัดไว้ในบริเวณการแข่งขันในช่วงเวลาก่อนเริ่มการแข่งขัน
5. การดำเนินการแข่งขัน
5.1 ผู้ดำเนินงานจัดการแข่งขัน ต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในจำนวนที่พอเพียงให้ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของเลขานุการจัดการแข่งขัน ในการจัดขั้นตอนและการเพิ่มน้ำหนักตามที่ผู้แข่งขันได้ขอไว้ ในการปฏิบัติหน้าที่นี้ เจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งต้องใช้ใบส่งน้ำหนักเหล็กที่มีช่องสำหรับบันทึกการยก 3 ครั้ง ในการยกสองท่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านนี้เรียกว่า เจ้าหน้าที่เดินน้ำหนักเหล็ก
5.2 เจ้าหน้าที่เติมน้ำหนักเหล็กจะเป็นผู้แจ้งให้ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน หรือผู้ฝึกสอนของนักกีฬาคนนั้น ๆ เขียนน้ำหนักที่จะยกในแต่ละครั้งลงในใบส่งน้ำหนักเหล็ก แล้วเสนอให้ผู้ประกาศ ณ โต๊ะทำงานทันทีเพื่อจัดลำดับการยก หลังจากยกแต่ละครั้ง ผู้บันทึกผลการยกจะขอให้นักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนลงน้ำหนักที่จะยกครั้งต่อไป ในกรณีการแจ้งน้ำหนักที่นักกีฬาจะยกแต่ละครั้ง อาจกระทำได้โดยใช้ระบบติดต่อภายใน ซึ่งมีโทรศัพท์เครื่องหนึ่งอยู่ในพื้นที่อบอุ่นร่างกาย และอีกเครื่องหนึ่งอยู่ที่โต๊ะของเลขานุการจัดการแข่งขัน หรือโดยการใช้กล้องถ่ายวิดีโอที่มีเครื่องรับสองเครื่อง (เครื่องหนึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่อบอุ่นร่างกาย และอีกเครื่องหนึ่งอยู่ที่โต๊ะเลขานุการจัดการแข่งขัน)
5.3 ต้องกำหนดตัวผู้ประกาศไว้อย่างน้อยหนึ่งคนหรือมากกว่า หน้าที่ของผู้ประกาศคือ จัดลำดับการเรียกนักกีฬาขึ้นทำการแข่งขัน โดยการเรียกชื่อนักกีฬา ชื่อประเทศ น้ำหนักของเหล็ก และครั้งที่ยก ผุ้ประกาศจะเรียกนักกีฬาที่จะขึ้นยกคนต่อไปให้เตรียมตัวด้วยเสมอ
5.4 การใส่น้ำหนักเหล็กที่จะยก ให้เริ่มจากน้อยไปหามาก โดยผู้เข้าแข่งขันที่ยกน้ำหนักน้อยที่สุดจะต้องยกก่อนไม่ว่ากรณีใด ๆ หลังจากผู้เข้าแข่งขันได้ยกน้ำหนักที่ใส่ไว้แล้ว จะลดน้ำหนักเหล็กให้ต่ำกว่าเดิมตามที่ได้ประกาศไว้แล้วไม่ได้ ผู้เข้าแข่งขันหรือผู้ฝึกสอนจะต้องสังเกตและเฝ้าติดตามการเพิ่มน้ำหนักเหล็กอย่างต่อเนื่องและต้องพร้อมที่จะทำการยกเมื่อถังน้ำหนักเหล็กที่ขอไว้
5.5 การเพิ่มน้ำหนักเหล็ก จะต้องเพิมขึ้นเป็นทวีคูณของ 2.5 กิโลกรัมเสมอ ยกเว้นการยกเพื่อทำสถิติ ให้เพิ่มเป็นทวีคูณของ 500 กรัม
5.6 การเพิ่มน้ำหนักภายหลังการยกผ่านแต่ละครั้ง จะต้องเพิ่มอย่างน้อย 2.5 กิโลกรัม
5.7 น้ำหนักเหล็กที่ผู้เข้าแข่งขันจะขอยกได้อย่างน้อยที่สุดคือ 27.5 กิโลกรัม ประกอบด้วยคานยก และปลอกยึด กับแผ่นเหล็กขนาด 1.25 กิโลกรัม 2 แผ่น
5.8 ระหว่างการเรียกชื่อจนถึงเริ่มต้นการยก ผู้เข้าแข่งขันจะมีเวลา 1 นาที เมื่อเวลาผ่านไป 30 วินาที จะมีสัญญาณเตือน ถ้าหมดเวลา 1 นาทีแล้ว ผู้เข้าแข่งขันยังไม่ยกคานขึ้นจากพื้น ผู้ตัดสินทั้งสามคนจะตัดสินการยกครั้งนั้น ไม่ผ่าน เมื่อผู้เข้าแข่งขันยกสองครั้งติดต่อกัน ผู้เข้าแข่งขันจะมีเวลา 2 นาที และก่อนหมดเวลา 30 วินาที จะมีสัญญาณเตือน และถ้าหมดเวลา 2 นาทีแล้ว ผู้เข้าแข่งขันยังไม่ยกคานขึ้นจากพื้น ผู้ตัดสินทั้งสามคนจะตัดสินการยกครั้งนั้นไม่ผ่าน
5.9 เมื่อผู้เข้าแข่งขันต้องการเพิ่มหรือลดน้ำหนักเหล็กที่เลือกไว้แล้ว ผู้เข้าแข่งขันหรือผู้ฝึกสอนจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่เดินน้ำหนักเหล็กทราบก่อนการเรียกครั้งสุดท้าย
5.10 ก่อนการยกครั้งแรกหรือระหว่างการยกครั้งที่ 2 สามารถขอเปลี่ยนน้ำหนักเหล็กได้เพียงสองครั้ง โดยแต่ละครั้งต้องเขียนลงบนใบส่งน้ำหนักเหล็กพร้อมกับการเซ็นชื่อของผู้ฝึกสอนหรือนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันกำกับไว้ด้วย หลังจากที่นักกีฬาถูกเรียกชื่อครั้งสุดท้ายแล้ว จะเปลี่ยนน้ำหนักบนคานยกไม่ได้
5.11 การเรียกชื่อครั้งสุดท้ายคือ กรรมการจับเวลาจะให้สัญญาณก่อนหมดเวลา 30 ิวินาที เพื่อเป็นการรักษาเวลา ผู้ฝึกสอนอาจเข้าไปหาผู้ประกาศ เพื่อขอเปลี่ยนน้ำหนักเหล็กด้วยวาจาแทนการเขียนลงในใบส่งน้ำหนักเหล็ก
5.12 เมื่อผู้เข้าแข่งขันขอเปลี่ยนน้ำหนัก และตัวผู้เข้าแข่งขันจะต้องยกน้ำหนักที่สูงกว่าเดิม ต้องหยุดนาฬิกาไว้ในระหว่างการเปลี่ยนน้ำหนัก เมื่อเปลี่ยนน้ำหนักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เริ่มจับเวลาต่อไปจนกว่าจะหมดเวลากติกา เมื่อผู้เข้าแข่งขันคนใดขอเปลี่ยนน้ำหนักเหล็ก ลำดับการยกลูกจะเปลี่ยนไปตามหลังผู้แข่งขันรายอื่น เมื่อผู้เข้าแข่งขันนั้นถูกเรียกชื่อให้ยกอีกครั้งหนึ่ง ผู้เข้าแข่งขันนั้นจะมีเวลายกตามปกติคือ 1 นาที
5.13 หลังจากได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ผู้เข้าแข่งขันหรือผู้ฝึกสอนจะเปลี่ยนใจขอลดน้ำหนักที่จะยก หรือถอนตัวออกจากการแข่งขันไม่ได้
5.14 ในการแข่งขันระหว่างชาติ ระหว่างผู้เข้าแข่งขันสองคน หรือระหว่างสองประเทศในรุ่นที่ต่างกัน ผู้เข้าแข่งขันจะยกน้ำหนักสลับกันไปก็ได้ โดยผู้เข้าแข่งขันที่ยกน้ำหนักน้อยกว่าจะต้องเป็นผู้ยกก่อน และใช้ลำดับการยกนี้ตลอดการแข่งขันนั้น ๆ โดยเฉพาะ
5.15 น้ำหนักที่ผู้ประกาศได้ประกาศแล้ว จะต้องปรากฎขึ้นที่กระดานแจ้งผลการแข่งขันทันที
5.16 ระหว่างการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันบนพื้น หรือบนเวที บุคคลอื่นนอกเหนือไปจากกรรมการควบคุมการแข่งขัน ผู้ตัดสินที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ผู้ประกาศ เจ้าหน้าที่เทคนิค ผู้จัดการทีม (ประเทศละหนึ่งคน) และผู้แข่งชันในรุ่นหรือกลุ่มนั้น ๆ จะเข้าไปในบริเวณการแข่งขันมิได้
6. ลำดับการเรียกนักกีฬาขึ้นยก
6.1 ในการเรียกผู้เข้าแข่งขันให้ออกมายกน้ำหนักนั้น มีข้อพึงพิจารณาอยู่ 4 ประการ คือ
- น้ำหนักของเหล็ก
- ครั้งที่ยก (ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3)
- หมายเลขประจำตัวของผู้เข้าแข่งขัน
- น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น (นั่นคือ ผลต่างของน้ำหนักเหล็กเป็นกิโลกรัมที่ยกครั้งก่อนกับน้ำหนักที่ขอยกครั้งต่อไป)
6.2 ในการพิจารณาตามข้อต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ลำดับการเรียกชื่อต้องเรียงลำดับ ดังนี้
- ผู้เข้าแข่งขันที่เรียกน้ำหนักเบากว่า จะเป็นผู้ยกก่อน
- ผู้เข้าแข่งขันที่ยกน้อยครั้งกว่า จะยกก่อนผู้เข้าแข่งขันที่ยกมากครั้งกว่า
ตัวอย่าง การยกครั้งแรกต้องยกก่อนครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 และการยกครั้งที่ 2 ต้องยกก่อนครั้งที่ 3
- เมื่อมีผู้เข้าแข่งขันมากกว่าหนึ่งคนเรียกน้ำหนักเท่ากัน และจำนวนครั้งในการยกเท่ากันทุกคน ผู้เข้าแข่งขันจะถูกเรียกตามลำดับเลขประจำตัวจากน้อยไปมาก นั่นคือนักกีฬาที่มีเลขประจำตัวน้อยกว่า จะต้องยกก่อนผู้ที่มีเลขประจำตัวสูงกว่า
ข้อยกเว้น ในกรณีนักกีฬาที่มีเลขประจำตัวสูงกว่าจะยกก่อนนักกีฬาที่มีเลขประจำตัวน้อยกว่า (จะใช้ในกรณีการ
เพิ่มน้ำหนักเหล็กของการยกครั้งที่แล้วกับการขอน้ำหนักเหล็กครั้งต่อไปมากกว่านักกีฬาอีกคน)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น